สำหรับชื่อ "ตะพัด" เป็นชื่อที่เรียกกันในภาคตะวันออก แถบจังหวัดจันทบุรีและตราด ในภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "หางเข้" ถูกค้นพบเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2474 ตามรายงานของสมิธที่ลำน้ำเขาสมิง จังหวัดตราด โดยระบุว่าในขณะนั้น ปลาตะพัดเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำลำคลองในภาคตะวันออก ไข่มีลักษณะสีส้มลูกกลมใหญ่ ฟักไข่ในปาก เนื้อมีรสชาติอร่อย นิยมใช้ทำเป็นอาหาร
ในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย เชื่อว่าเหลือเพียงบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำตาปี และบริเวณแม่น้ำ ที่อำเภอละงู จังหวัดสตูลเท่านั้น ส่วนทางภาคตะวันออกที่เคยชุกชุมในอดีต ไม่มีรายงานการพบอีกเลย อีกที่หนึ่งที่ได้เคยได้ชื่อว่ามีปลาตะพัดชุกชุมคือ บึงน้ำใส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในอดีตเป็นแหล่งจับปลาตะพัดที่มีชื่อเสียงมาก จนมีชื่อปรากฏในคำขวัญประจำอำเภอ โดยชาวบ้านจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "กรือซอ" แต่จากการจับอย่างมากในอดีต ทำให้ในปัจจุบัน
ปริมาณปลาตะพัดลดน้อยลงจนแทบจะสูญพันธุ์
ลำตัวยาว ด้านข้างแบน เกล็ดมีขนาดใหญ่สีเงินอมเขียวหรือฟ้าเรียงเป็นระเบียบอย่างสวยงาม เกล็ดบริเวณเส้นข้างลำตัวมีประมาณ 24 ชิ้น ตาโต ปากใหญ่เฉียงขึ้นด้านบน ฟันแหลม ครีบหลังและครีบก้นยาวไปใกล้บริเวณครีบหาง สันท้องคม มีหนวด 1 คู่อยู่ใต้คาง ปลาตะพัดขนาดโตเต็มที่ได้ยาวได้ราว 90 เซนติเมตร หนักได้ถึง 7 กิโลกรัม พฤติกรรมมักจะว่ายบริเวณริมผิวน้ำ อาหารของปลาตะพัด ได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก ตลอดจนแมลง สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก ปลาโตเต็มวัยสามารถโดดงับอาหารได้สูงถึง 1 เมตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น